ประวัติศาสตร์หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๒
พ.ศ.2473 (ค.ศ.1930) พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาได้จัดตั้งขึ้น
20 พฤษภาคม 2491 (ค.ศ.1948) จักรพรรดินิยมอังกฤษได้ประกาศกฎอัยการศึก ใช้ในการปกครองประเทศและห้ามทุกๆ พรรคการเมืองมีบทบาทในการปกครองประเทศ และได้ทำการจับกุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พร้อมสมาชิก ในข้อหากบฏ ผู้นำพร้อมสมาชิกอีกส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ถอยเข้าป่าจัดตั้งเป็นกองกำลังจรยุทธ (TPNM) เพื่อทำการต่อสู้กับจักพรรดิอังกฤษ

พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953) กองกำลังกรม 10 ได้มีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ อพยพฐานที่มั่น จาก ตือมอโละ รัฐปาหัง ไปที่ชายแดน มาลายา-ไทย ใช้เวลาในการเดินทางอพยพ ราวประมาณ 1 ปี 8 เดือน
28 ธันวาคม 2498 (ค.ศ.1955) พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา และรัฐบาลประเทศมาลายา ได้มีการเจรจาสันติภาพ ที่บาเลง รัฐเกดะ แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทางรัฐบาลมาลายาบังคับให้มอบตัว
พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) กรม 10 ต้องการที่จะเพิ่มกองกำลังนักรบ จึงได้มีการเริ่มรับสมาชิกใหม่ ในบริเวณชายแดน ไทย-มาเลย์

พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) ได้มีการเจรจาระดับสูง 3 ฝ่าย ระหว่าง รัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา สามารถตกลงกันได้ ดังนั้นได้มีการลงนามเซ็นสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่ายระหว่าง รัฐบาลไทย รัฐบาลมาเลเซีย และพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ที่โรงแรมลีการ์เด้น หาดใหญ่ จ.สงขลา ทางพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ได้ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ และสลายกองกำลังเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และได้จัดตั้ง 4 หมู่บ้านสันติภาพ ประกอบด้วย
1. บ้านรัตนกิตติ 1 ที่ตั้ง ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา
2. บ้านรัตนกิตติ 2 ที่ตั้ง ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา
3. บ้านรัตนกิตติ 3 ที่ตั้ง ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา
4. บ้านรัตนกิตติ 4 ที่ตั้ง ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
28 มิถุนายน 2536 (ค.ศ.1993) ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระประสงค์ที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับหมู่บ้าน"รัตนกิตติ 4" เข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และพระราชทานชื่อใหม่ว่า “หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12”